- This event has passed.
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Mild Surfactants: New Alternative for Gentle Toiletry สารลดแรงตึงผิวสูตรอ่อนโยน ทางเลือกใหม่ของผลิตภัณฑ์ชำระล้างชนิดเป็นมิตรต่อผิวหนัง
ธันวาคม 19, 2022 @ 9:00 น. - 16:00 น.
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Mild Surfactants: New Alternative for Gentle Toiletry
สารลดแรงตึงผิวสูตรอ่อนโยน ทางเลือกใหม่ของผลิตภัณฑ์ชำระล้างชนิดเป็นมิตรต่อผิวหนัง
วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น.
ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการและเหตุผล
สารลดแรงตึงผิว (surface active agent : surfactant) นับเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของเครื่องสำอางทั้งหมด การนำเอาสารลดแรงตึงผิวมาประยุกต์ใช้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางนั้นมีอย่างกว้างขวางด้วยคุณประโยชน์มากมาย ในเครื่องสำอางนั้นสารลดแรงตึงผิวจะใช้สำหรับทำความสะอาด, เป็นสารก่อโฟม, เป็นสารเพิ่มความหนืด, เป็นสารก่ออิมัลชัน, เพิ่มการละลายและการซึมผ่านผิวหนังของสารสำคัญ อีกทั้งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ คุณสมบัติที่เด่นของโมเลกุลสารลดแรงตึงผิว คือ เป็นสารที่มีคุณสมบัติเข้ากันได้กับทั้งน้ำและน้ำมัน สามารถเรียงตัวมีโครงสารพิเศษในรูปแบบไมเซลล์โดยส่วนที่ชอบไขมัน (lipophilic) จะหันเข้าหาไขมันและส่วนที่ชอบน้ำ (hydrophilic) ที่เข้ากับน้ำ การเรียงตัวนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารลดแรงตึงผิวที่ใช้
การนำเอาสารลดแรงตึงผิวมาใช้ในผลิตภัณฑ์ชำระล้าง ถือเป็นการประยุกต์ใช้ทั่วไปของสารลดแรงตึงผิวในเครื่องสำอาง เมื่อผิวหนังและเส้นผมสกปรกเกิดขึ้นจากสิ่งสกปรก 2 ประเภทด้วยกัน คือ อนุภาคของแข็ง หรือฝุ่นจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และคราบน้ำมันจากไขมันธรรมชาติที่ผลิตในรูขุมขน ซึ่งอาศัยแรง Van der Waals ยึดติดอยู่บนเส้นผมและผิวหนัง แม้ว่าการล้างผิวด้วยน้ำสามารถขจัดสิ่งสกปรกออกไปได้ แต่คราบน้ำมันมักจะยังคงหลงเหลืออยู่กับผิวของผมและผิวหนัง สารลดแรงตึงผิวในเครื่องสำอางสำหรับชำระล้างช่วยกำจัดคราบมัน โดยส่วนของโครงสร้างด้านที่ชอบไขมันจะดึงดูดและเรียงตัวไปกับคราบน้ำมันบนพื้นผิวของผมและผิวหนัง ในขณะเดียวกันปลายด้านที่ชอบน้ำของโมเลกุลหันเข้าหาน้ำช่วยเพิ่มความชอบน้ำ และช่วยให้ไขมันที่ติดอยู่หลุดออกจากผิวหรือผมเมื่อชำระล้างด้วยน้ำ ด้วยบันทึกความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทในเครือ Iwase Cosfa ประเทศญี่ปุ่น ได้มีความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย ทั้งทางด้านวิชาการ เช่น มีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนิสิตทั้งระดับปริญญาบัณฑิต และมหาบัณฑิต ได้ไปศึกษาดูงาน ร่วมอบรมวิชาการ และฝึกปฏิบัติงานทางด้านวิชาชีพทางเภสัชกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น และมีความคิดที่จะมีการพัฒนางานวิจัยร่วมกันทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในอนาคต ในการนี้หน่วยวิจัยเครื่องสำอาง ศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเครื่องสำอาง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทในเครือ Iwase Cosfa ประเทศญี่ปุ่น จึงร่วมกันเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Mild Surfactants: New Alternative for Gentle Toiletry ถือเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศ ร่วมถึงผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้สารลดแรงตึงผิวอื่นๆ
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เภสัชกรรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาสูตรตำรับเครื่องสำอางได้เรียนรู้คุณสมบัติขั้นพื้นฐานของสารลดแรงตึงผิว แนวทางในการพิจารณาเลือกใช้สารลดแรงตึงผิวให้เหมาะสมกับประเภทผลิตภัณฑ์ชำระล้างรูปแบบต่างๆ รวมถึงผลของสารลดแรงตึงผิวที่มีต่อผม ผิวหนัง เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกใช้สารลดแรงตึงผิวโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการแพ้